10 วิธีการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้งานได้จริง
- Feb 27
- 1 min read

การทำงานเป็นทีม คืออะไร
การทำงานเป็นทีม คือ การทำงานมากกว่า 1 คนขึ้นไป จำนวนคนในทีมขึ้นอยู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีในการทำงานแต่ละโปรเจกต์ ภายใต้เงื่อนไขกรอบการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน ผ่านการวางแผนการทำงานร่วมกันเพื่อไปยังปลายทางที่ตั้งไว้ โดยวิธีการทำงานอาจจะแตกต่างกันไปได้ตามความถนัดของแต่ละคน แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้จะต้องออกมาตรงกัน ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการทำงานเป็นทีมที่ดี
หลักการทํางานร่วมกันหรือการทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุข
การทำงานเป็นทีมอย่างราบรื่นและสร้างสรรค์นั้น มีหลักการทำงานร่วมกันง่าย ๆ ที่ทำแล้วได้ประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้
จริงใจและเชื่อใจกัน ทั้งสองสิ่งนี้เป็นพื้นฐานของทุกความสัมพันธ์ที่ดี การทำงานเป็นทีมเองก็เช่นกัน หากคนในทีมมีความจริงใจให้แก่กัน เชื่อใจกัน และเชื่่อในความสามารถของกันและดกัน งานก็ออกมาก็จะดีภายใต้บรรยากาศการทำงานที่สนุกสนาน
มีระบบการทำงานและเป้าหมายเดียวกัน หากกำหนดทิศทางและปลายทางที่ชัดเจนแล้ว อย่าลืมวางกรอบและระบบการทำงานให้ชัดเจนควบคู่ไปด้วย เมื่อเส้นชัยและโครงสร้างแข็งแรงแล้ว การทำงานเป็นทีมก็จะสำเร็จได้ง่ายขึ้น เพราะทั้งหมดนั้นเดินไปในแนวเดียวกัน
การสื่อสารคือสิ่งสำคัญ เมื่อทำงานร่วมกับคนมากกว่าหนึ่งคน ความเข้าใจคือสิ่งสำคัญ ซึ่งการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้การทำงานเป็นทีมบรรลุไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดยการพูดคุยกันอยู่เสมอ รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา
10 วิธีทำงานเป็นทีม ใช้งานได้จริง
1. ให้ความสำคัญกับทุกความเห็นของคนในทีม
สิ่งหนึ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าต่อการทำงานเป็นทีม คือการที่สมาชิกในทีมหรือหัวหน้ารับฟังและทำความเข้าใจกับไอเดียที่นำเสนอไป แสดงให้เห็นถึงการเคารพความคิดของทุกคนอย่าเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามอาจจะเพิ่มสีสัน ด้วยการมีรางวัลให้ทีมที่มีผลงานเกินเป้า สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้อาจเป็นกำลังใจช่วยให้คนในทีมสนุกกับการทำงานเป็นทีมมากขึ้น
2. เข้าใจถึงบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละคน
การทำงานเป็นทีมจะประสบความสำเร็จได้นั้น ทุกคนในทีมต้องรู้ในหน้าที่ของตัวเองเสมอ รวมถึงเคารพในบทบาทของเพื่อนร่วมทีมคนอื่นเช่นกัน ไม่ก้าวก่ายกันแต่สามารถแนะนำด้วยความหวังดีและจริงใจต่อกัน เพื่อให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปด้วยความราบรื่น
3. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
การมีเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เดินไปตามกรอบไม่ออกนอกทาง รู้ว่าต้องไปแนวไหนให้ไม่หลงทางจนเสียแผน ทั้งหมดนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการของการทำงาน
4. มีสื่อสารกันอยู่เสมอ
การสื่อสารนั้นหมายถึง การสื่อสารความคิด บอกเล่าปัญหา หรือแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น รวมไปถึงรับฟังกันให้มากที่สุด เคารพกันและกัน ผู้ฟังก็ควรที่จะรับคำแนะนำที่ได้รับมาพิจารณาอย่างเปิดใจ

5. ตัดสินใจร่วมกัน
เริ่มด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมได้แสดงความเห็น และตัดสินใจหาทางออกร่วมกัน หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เน้นความฉับไวในการตัดสินใจที่ทำไปแล้ว คนที่ตัดสินใจก็ควรอธิบายถึงสาเหตุที่เลือกตัดสินใจไปแบบนั้นกับทีม รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของคนในทีมด้วย เพื่อแสดงความเคารพการทำงานเป็นทีม
6. สร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจที่ดีต่อกัน
สนับสนุนและให้กำลังใจเพื่อนร่วมทีมอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีบรรยากาศการทำงานที่ดี คนทำงานมีความสุข ทั้งนี้ความไว้ใจกันสามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการเชื่อในทักษะความสามารถของทุกคนในทีม
7. ทำกิจกรรมนอกเหนือจากงานร่วมกัน
เรียนรู้ตัวตนของเพื่อนร่วมทีมในมุมผ่อนคลายดูบ้าง ก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการทำงานเป็นทีม โดยจัดกิจกรรมเช่น กินข้าวเที่ยงร่วมกัน ไปร้องคาราโอเกะตอนเย็นหลังเลิกงาน ฯลฯ แลกเปลี่ยนความชอบในเรื่องส่วนตัว สิ่งนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนในทีมดีขึ้น
8. เคารพความแตกต่างของคนในทีม
เคารพที่ว่าคือเคารพทั้งตัวตนและความคิด เพราะในสังคมปัจจุบัน เรื่องเพศ อายุ กายภาพภายนอกสำหรับเนื้องานส่วนใหญ่แล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ปัจจัยในการทำงาน ดังนั้นคนในทีมจึงต้องเคารพความต่างของกันและกัน รวมถึงเข้าใจถึงความคิดที่ต่างกัน ซึ่งข้อหลังนี้คือจุดแข็งของการทำงานเป็นทีม การมีชุดความคิดที่หลากหลายจากคนในทีม จะช่วยให้งานออกมารอบด้านและรอบคอบมากขึ้น
9. เปิดกว้างรับฟังฟีดแบกอยู่เสมอ
วิธีการทำงานเป็นทีมที่ดีอย่างยั่งยืน คือการรับฟังความคิดเห็นของคนในทีมทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการรับฟังคำแนะนำเกี่ยวกับงานที่ตัวเราเป็นคนรับผิดชอบ เพื่อนำไปวิเคราะห์ แก้ไข และประยุกต์ใช้กับการทำงาน
10. พร้อมแก้ไขและปรับปรุง
เมื่อได้ฟีดแบกแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือนำสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์ พูดคุยกันในทีม หาทางออกของปัญหาร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จับมือแก้ไขไปพร้อมกันโดยความสมัครใจของคนในทีม วิธีแบบนี้อาจจะใช้เวลามากขึ้น แต่ยั่งยืนกว่าในระยะยาว
ที่มาบทความ: JobsDB
Comments